บทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อการพัฒนาระบบรางของประเทศ

30 ธันวาคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม  หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง (CMU RailCFC)  ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้กล่าวถึง  เส้นทางสู่การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ว่า  ประเทศไทยมีทิศทางในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle income trap) สู่ประเทศที่มีรายได้มากขึ้น หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนั้น คือ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) ซึ่งรวมถึงการขนส่งระบบราง เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศต้องการพัฒนา เพื่อมุ่งให้เกิดการเชื่อมโยงต่อการขนส่งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงเส้นทางที่เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

การขนส่งทางรถไฟ’ ซึ่งนับว่าเป็นระบบการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการขนส่งทางถนนซึ่งมีต้นทุนสูง ดังนั้นรัฐบาลจึงมีการลงทุนประมาณ 2,000,000 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เปลี่ยนจากระบบถนนที่ประเทศใช้เป็นระบบขนส่งหลักมาเป็นรถไฟ ซึ่งสัดส่วนแบ่งออกเป็นประมาณ 80% ของงบประมาณทั้งหมด สำหรับการขยายรางรถไฟเพื่อสร้างโครงข่ายระบบรางรถไฟ (Train network system) ทั่วประเทศ อันจะทำให้ก่อประโยชน์สูงสุด จะเห็นว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยงบประมาณมหาศาลในระบบราง อาจจะมีการเข้าใจผิดว่าเป็นการสร้างรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคม ยังมีแผนลงทุนระบบรางในส่วนอื่นด้วย เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟระหว่างเมือง นับเป็นการลงทุนที่ถือเป็นการเปลี่ยนประเทศครั้งสำคัญ โดยเฉพาะระบบการขนส่งที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงเพื่อลดต้นทุน บรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนงบประมาณที่เหลืออีก ประมาณ 20% นั้น จะใช้ในการปรับปรุงถนน ระบบขนส่งทางน้ำ และระบบอื่นๆ”


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก้าวเข้าสู่งานวิจัยระบบรางคู่เพื่อสนับสนุนนโยบายของประเทศ

โดยทั่วไประบบรางรถไฟ (Railway system) ประกอบด้วย ตัวรถ ซึ่งระบบตัวรถจะเกี่ยวพันกับพวกรถลาก Locomotive ระบบบรรทุก ระบบโบกี้ ระบบล้อ ระบบรางซึ่งเป็นระบบทางราบ และระบบ Signal Control หรือระบบที่ใช้ในการควบคุมตัวรถ ทั้งหมดนี้คือระบบทุกอย่างที่อยู่เหนือรางรถไฟขึ้นไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมสื่อสาร พวกอิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่าง ที่ทำให้รถไฟเคลื่อนที่ได้ตามความเร็วที่ต้องการ ทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพในการสร้างรถไฟได้ จึงต้องเพิ่งการนำเข้าเทคโนโลยีของตัวรถไฟแทน ที่สำคัญในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นการพัฒนาไปที่เทคโนโลยีที่อยู่เหนือราง (Train system กับ Signal System) ทุกมหาวิทยาลัยหรือทุกหน่วยงาน มุ่งเน้นการพัฒนาระบบส่วนบนของรางทั้งหมด

สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นจะให้ความสำคัญกับงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านทางรถไฟ (Railway Track) ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใต้รางรถไฟลงมาจนถึงชั้นดินเดิม เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงอาสาที่จะช่วยประเทศดูแลเรื่ององค์ความรู้ที่อยู่ใต้รางลงมา นั่นหมายความถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมโยธาทั้งหมด ทั้งราง ไม้หมอน ตัวยึด หินโรยทาง ระบบระบายน้ำบนทางรถไฟ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานด้านวิศวกรรมโยธาที่เฉพาะทางขั้นสูง และมากเกินกว่าองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาของประเทศที่มีอยู่ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยการสนับสนุนอย่างดีจากมหาวิทยาลัยพันธมิตรจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถที่จะระบุโจทย์วิจัยของประเทศไทยเกี่ยวกับงานระบบโยธารางได้อย่างชัดเจน และจะเป็นหน่วยงานด้านวิชาการที่ช่วยประเทศในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟ โดยนำเทคโนโลยีใต้รางซึ่งเรียกว่า Substructure Technology เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการศึกษางานวิจัยในครั้งนี้ ทั้งนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดหรือมหาวิทยาลัยไหนที่จะพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับฐานรากของรถไฟ เพื่อจะไปเสริมศักยภาพในการพัฒนาด้านรถไฟของประเทศไทย

การดำเนินการจัดตั้ง CMU RailCFC
ศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง (Chiang Mai University Advanced Railway Civil and Foundation Engineering Center) หรือเรียกสั้นๆ ว่า CMU RailCFC ได้ริเริ่มขึ้นภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาด้าน Substructure Technology ของระบบรางอย่างจริงจัง
เป้าหมายของศูนย์ CMU RailCFC คือ การเป็นศูนย์วิจัยระดับโลก (World Class Research Center) ในด้าน Railway Track Foundation Structure โดยจะมุ่งดำเนินการในด้าน หนึ่ง คือ การพัฒนางานวิจัยด้านวิศวกรรมรางรถไฟเป็นหลัก สอง คือ การเป็นศูนย์ทดสอบหลักที่สำคัญของประเทศไทยทางด้านวัสดุหินโรยทางรถไฟ วัสดุรองใต้หินโรยทางรถไฟ และดินฐานรากเดิมทางรถไฟ สาม คือ สนับสนุนการเรียนการสอนหลักสูตรร่วมวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับพันธมิตรการศึกษาในประเทศต่างๆ และ สี่ คือ การสร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านวิศวกรรมระบบรางทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แกลลอรี่