มช. นำองค์ความรู้จากงานวิจัย มุ่งแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน

1 มีนาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

       รองศาสตราจารย์ ดร. อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าว ในรายการเล่าสู่กันฟังกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน ว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี พื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อม เพราะต้องเผชิญกับหมอกควันที่มาจากการเผาในที่โล่งและไฟป่า ซึ่งมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

        จากข้อมูลจุดความร้อน (Hot spot) จากโครงการวิจัย ที่ ผศ. ดร. สมพร จันทระ เป็นหัวหน้าโครงการ พบว่า หมอกควัน มาจากหลายแหล่ง คือ การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรทั้งในที่โล่งและในป่า ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน ก็มาจากการเผาไหม้เครื่องยนต์รถจักรยานยนต์และรถยนต์ รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม

        ผู้บริหารและนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหมอกควันมาตั้งแต่เริ่มมีปัญหา เริ่มจากการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดประชุมระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 การร่วมมือกับทางจังหวัดจัดตั้งคณะทำงาน 2 คณะ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

         การทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 พบว่ามีความพยายามของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการป้องกันหนึ่งกลุ่ม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหนึ่งกลุ่ม และการพยายามที่จะพัฒนาระบบให้มีการป้องกันล่วงหน้าอีกหนึ่งกลุ่ม อาจจะเรียกได้อีกแบบหนึ่งคือเป็นทั้ง งานต้นน้ำ งานกลางน้ำ งานปลายน้ำ

         การแก้ปัญหาต้นน้ำ มีโครงการสำรวจจุดเผา Hot Spot การจัดการไฟป่า รวมทั้ง มาตรการลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด โดยร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ทดลองปลูกพืชผสมผสาน เช่น ร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อร่วมกันหาพืชทางเลือก พืชทดแทน และหาแนวทางว่าทำอย่างไรให้ปริมาณของข้าวโพดลดลง เนื่องจากการเผาข้าวโพดเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควันจากภาคเกษตร มีอาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ลงพื้นที่ที่จังหวัดน่าน ซึ่งมีการทดลองปลูกงาดำ งาขี้ม่อน ถั่วนิ้วนางแดง พบว่าถ้าปลูกถั่วนิ้วนางแดงสลับระหว่างแปลงข้าวโพด พร้อมกับปรับวิธีการเก็บเกี่ยวให้เหมาะสม จะได้ราคากิโลกรัมละ 27 บาท ถือเป็นพืชทางเลือกได้ การปลูกพืชทางเลือก เช่น ข้าวพันธุ์พื้นเมือง กาแฟร่วมกับไม้ยืนต้น ผักปลอดสารพิษ มะม่วง ต้นไผ่ซึ่งไผ่เป็นไม้โตเร็ว มีหลายแบบทั้งไผ่กิน ไผ่สำหรับนำไปแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ มีการนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ทดแทนอุปกรณ์นำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง เป็นต้น การสร้างอาชีพเสริม เช่น อาชีพทางเลือกทางการเกษตร การเลี้ยงโคขุน การท่องเที่ยวการพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพร รวมทั้ง การเสริมสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านต้นแบบบูรณาการเพื่อความอยู่ดีกินดี การพัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจน การจัดการเศษวัสดุ อาทิ ซังข้าวโพด เช่น การใช้เทคโนโลยีไพโรไลซีสเพื่อจัดการชีวมวล นอกจากนี้ ยังมีชุดโครงการบูรณาการขนาดใหญ่ คือ การปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินและการออกแบบห่วงโซ่อุปทานทางเกษตรเพื่อลดการเกิดหมวกควัน ภายใต้ชุดโครงการ “ประเทศไทย ไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand)” ชุดโครงการ Climate change disaster management ภายใต้ความร่วมมือกับ RUN 7 มหาวิทยาลัยวิจัย เป็นต้น

        การจัดการกลางน้ำ เน้น การวิจัยเพื่อทำให้ทราบผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และ สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง หาแนวทางแก้ไขปัญหาหมวกควัน เช่น การสร้างความตระหนัก ความเข้าใจกับปัญหา การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการติดตามและเฝ้าระวังฝุ่นควัน ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมองไปถึงเรื่องของการจัดการน้ำในพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ถ้าย้อนไปว่าหากไม่มีน้ำจะทำอย่างไร มีนักศึกษากับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปทำฝายมีชีวิตหากฝนตกมาจะทำการกักเก็บน้ำได้ และอีกแนวทางหนึ่ง คือ ทำบ่อขนมครก การขุดหลุมและยอมใช้ผ้าพลาสติกปูพื้นเพื่อกักเก็บน้ำช่วงหน้าฝน (เป็นการสร้างบ่อเก็บน้ำไว้ในพื้นที่สูง) ในขณะเดียวกันได้ใช้แนวทางของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เรียกว่า โคก หนอง นา ตรงไหนที่สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ก็ปลูกไปก่อน ตรงไหนทำนาได้ให้ทำเพื่อมีข้าวกินก็ทำ ตรงไหนไม่มีหนองน้ำก็ต้องสร้างบ่อขนมครกขึ้นมา โดยวิธีการง่ายๆ ที่ทางชุมชนบนพื้นที่สูงได้ทำขึ้นมา

        การจัดการปลายน้ำ เน้นการจัดการสื่อสารกับสาธารณะ เช่น การประชุมเล่าความคืบหน้าผลการดำเนินงาน การเสวนา รวมพลัง ร่วมพิชิตวิกฤตหมอกควัน การประชุมภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย การลงนามสัตยาบันร่วมกันของมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ เป็นต้น ตลอดจน การรวบรวมองค์ความรู้โครงการต่างๆ ที่จะขอทุนมาทำงานต่อเนื่อง และ การผลักดันเชิงนโยบายระดับต่างๆ

        การผนึกกำลังของชาว มช. นำองค์ความรู้ งานวิจัยแก้ไขปัญหาหมอกควันของทุกฝ่าย เป็นการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมต่อสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้อากาศรอบๆ ตัว กลับมาบริสุทธิ์ สดชื่น สดใส และหายใจได้อย่างเต็มปอดอีกครั้ง
............................................................

แกลลอรี่