มช. มุ่งสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมพัฒนาแก้ปัญหาของประเทศ

25 ธันวาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้วางแนวทางยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยที่มุ่งตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่เป็นจุดเน้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ด้านอาหารและการเกษตร ด้านสุขภาพและสังคมผู้สูงวัย ด้านพลังงานชีวภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอนาคต ได้แก่ เทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง และจีโนมิกส์


ในรอบปีที่ผ่านมา ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้แก่

เทคโนโลยีกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (UTD RF)

นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ศึกษาการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี โดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุทำให้เกิดความร้อนสูงในระยะเวลาอันสั้น แทรกผ่านเข้าไปชั้นของโมเลกุลภายในเมล็ดข้าวหรือผลิตผลทางการเกษตร สามารถฆ่าแมลงและไข่ของแมลงที่ปนเปื้อนอยู่ภายในข้าวสารซึ่งยากที่จะกำจัดด้วยวิธีการแบบอื่น กระบวนการของเทคโนโลยีนี้เรียกว่า “UTD RF” (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency) เทคโนโลยีนี้ได้ผ่านการทดสอบมาอย่างเข้มข้นและมีการสร้างโรงงานต้นแบบขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ สามารถกำจัดแมลงได้ครบวงจรชีวิตทั้งตัวแมลงและไข่แมลง เป็นระบบที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด เป็นผู้ขออนุญาตใช้สิทธิเพื่อเป็นผู้ผลิต และมีหลายหน่วยงานได้นำเทคโนโลยี UTD RF ไปใช้งานจริงในโรงสีข้าว ได้แก่ บริษัท ทอช คนทำนา จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สุรินทร์ จํากัด สหกรณ์การเกษตรบรรพตพิสัย จำกัด และมูลนิธิชัยพัฒนา

  

การพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีลำไอออน

นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีกระตุ้นการกลายพันธุ์ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ (1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1) (2) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (เทพ 10-5 หรือ MSY-4) และ (3) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (เทพ 10-7 หรือ OSSY-23) เพื่อแก้ปัญหาการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญระบาด เนื่องจากพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ซึ่งข้าวสามสายพันธุ์ดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ของชาวนาไทยในยุค Thailand 4.0
    

ระบบรากฟันเทียม Novem

ระบบรากฟันเทียม Novem เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท พี ดับ บลิว พลัส จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนรายเดียวของประเทศไทยที่มีกระบวนการผลิตรากฟันเทียม ได้ตามมาตรฐาน ISO13485 ระบบรากฟันเทียม Novem ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบดิจิทัลทางทันตกรรมซึ่งเป็นระบบการรักษาทางทันตกรรมที่ทันสมัยที่สุด ณ เวลานี้
รากฟันเทียม Novem ได้รับการออกแบบพัฒนาเพิ่มเสถียรภาพให้สามารถใส่ครอบฟันได้ทันทีหลังการผ่าตัดฝังรากเทียมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในสภาวะปริมาณและคุณภาพของกระดูกที่เหมาะสม จากเดิมที่ต้องรออย่างน้อย 3 เดือน จึงจะสามารถใส่ครอบฟันใช้บดเคี้ยวได้ มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มความสามารถในการยึดติดกระดูก โดยการปรับสภาพทั้งผิวของรากเทียม และ ลักษณะของเกลียวให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีควอนตัม

หลังจาก 8 ปีของการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่จำเป็นขึ้นเอง ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2562 กลุ่มนักฟิสิกส์จากห้องปฏิบัติการวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถถ่ายภาพ “อะตอมเดี่ยว” ที่มีขนาดประมาณ 0.1 นาโนเมตร ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถทำได้ โดยใช้เลเซอร์ลดอุณหภูมิกลุ่มก๊าซอะตอมรูบิเดียม-85 ในบรรยากาศเบาบางเทียบเท่าพื้นผิวดวงจันทร์ ลงไปที่ 50 ไมโครเคลวิน ก่อนเคลื่อนย้ายไปกักขังไว้ในคีบจับเชิงแสง แล้วทำการภาพถ่ายจำนวน 1,000 ภาพ แสดงผลลัพธ์เพียงสองแบบ คือ 0 หรือ 1 อะตอมในแต่ละกับดักแสง ผลการทดลองได้ยืนยันถึงการสร้างควอนตัมบิต หรือ หน่วยข้อมูลควอนตัมขึ้นจากอะตอมเดี่ยวในห้องทดลอง ปัจจุบันกลุ่มนักวิจัยดังกล่าวกำลังศึกษาการประยุกต์ใช้อะตอมเดี่ยวเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสามด้านหลัก คือ คอมพิวเตอร์ควอนตัม เซนเซอร์ควอนตัม และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตควอนตัม ทั้งหมดจะรวมกันเป็นหัวใจของระบบนิเวศควอนตัมที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมฐานเทคโนโลยีควอนตัมเพื่อมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0 อย่างแท้จริง

ผลงานข้างต้นได้แสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้จริง ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศต่อไปในอนาคต

แกลลอรี่