มช. นำนวัตกรรมต่อยอดภูมิปัญญา สู่ยุทธศาสตร์เชิงรุก “ล้านนาสร้างสรรค์”

14 มิถุนายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์


“ล้านนาสร้างสรรค์” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เชิงรุก และแนวทางการดำเนินงานหลักของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 ปี 2560 – 2564 ซึ่งอาจารย์ ดร. เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้รายละเอียดถึงที่มา และเป้าหมายของ “ล้านนาสร้างสรรค์” ว่า

จากล้านนาคดีศึกษา สู่ล้านนาสร้างสรรค์

จากการดำเนินงานตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 11 มหาวิทยาลัย ได้มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “ล้านนาคดีศึกษา” ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านล้านนา รวม 8 ด้าน ได้แก่ ภาษาวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศิลปกรรมหัตถกรรมดนตรี แพทย์สมุนไพร สถาปัตยกรรม มานุษยวิทยา และการกินการอยู่เครื่องนุ่งห่ม หรือ ไลฟ์สไตล์ ซึ่งทั้ง 8 ด้านนี้ ได้ดำเนินการผ่านคณะ หน่วยงาน สำนักต่างๆ โดยพบว่ากิจกรรมหรือองค์ความรู้ต่างๆ อยู่แบบกระจัดกระจาย ได้รับความสนใจจากนักวิชาการที่เป็นกลุ่มเฉพาะ เมื่อมีการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 12 ได้มีการระดมสมองว่า ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงของดีที่เรามีอยู่แล้ว รวบรวม และตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้น จึงได้นำองค์ความรู้ภูมิปัญญาล้านนาคดีศึกษาเหล่านี้มาต่อยอดเป็นยุทธศาสตร์ “ล้านนาสร้างสรรค์” ขึ้น

ไฮไลท์ 4 ด้าน ล้านนาสร้างสรรค์ หนึ่งในยุทธศาสตร์เชิงรุก มช.

ในการดำเนินงานยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านล้านนาสร้างสรรค์ ตั้งเป้าหมายไว้ 4 เรื่องหลัก เพื่อตอบโจทย์การนำล้านนาสร้างสรรค์สู่ชุมชน ได้แก่

1. การเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านล้านนา จะมีการจัดทำเว็บไซต์ lannacmu.com เรื่องอะไรก็ตามเกี่ยวกับล้านนาก็สามารถเข้ามาค้นหาได้ มีการสร้างฐานข้อมูล data base ที่รวบรวมความเป็นล้านนาสร้างสรรค์ทุกอย่างที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำเอาไว้ ให้สามารถจับต้องได้ มองเห็นได้ เมื่อพูดถึงล้านนาสร้างสรรค์ ก็จะนึกถึงนึกถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2. การนำองค์ความรู้ด้านล้านนาเผยแพร่สู่สาธารณะ ให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย คอร์สระยะสั้น คอร์สระยะยาว เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้มาสัมผัสถึงภูมิปัญญาล้านนา นักวิจัยก็นำไปพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง

3. การนำภูมิปัญญาล้านนามาต่อยอดให้เกิดมูลค่า ล้านนามีงานหัตกรรมที่งดงาม เช่น งานแกะสลัก งานผ้า แต่ยังพบข้อจำกัดในการใช้งาน จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างร่วมสมัย ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง สามารถใช้กับคนที่มีอายุน้อยได้หลากหลายขึ้น จึงมีการจัดสร้างศูนย์ Creative Design Lanna Center เพื่อเป็นที่บ่มเพาะ อบรม และสร้างสรรค์สินค้าใหม่ ๆ ที่สานต่อมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิม และองค์ความรู้เดิมไปต่อยอดให้มีความร่วมสมัยในทุก ๆ มิติ ทั้งด้านการออกแบบสินค้า การผลิต การตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ล้านนาได้อย่างสร้างสรรค์

4. การสร้างสภาพแวดล้อมล้านนาสร้างสรรค์ จะเห็นว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการปรับปรุงกายภาพ ในลักษณะภูมิทัศน์ ต่าง ๆ ถนน ป้าย ประตู รั้ว ฯลฯ โดยได้นำอัตลักษณ์ล้านนาเข้ามาออกแบบให้ร่วมสมัยมากขึ้น อีกส่วน คือ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม หอศิลปวัฒนธรรม ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนล้านนาสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี อาทิ เรือนโบราณอายุ 100 ปี ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จะเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาจัดแสดง ให้เกิดความน่าสนใจ และดึงดูดให้ผู้คนสนใจเข้ามาเยี่ยม นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กร และหน่วยงานคณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมายร่วมมือกันเป็นอย่างดี
สรุปได้ว่า แผนระยะสั้นจะเน้นการรวบรวมความรู้ แผนระยะกลางมุ่งเป็นศูนย์กลางและต่อยอด ส่วนแผนระยะยาว คือการสร้างเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่อื่น มีความเป็นล้านนาร่วมสมัย


สานต่อความงดงามแห่งล้านนา สู่ความร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน

ศิลปวัฒนธรรมคือความเจริญงอกงามของชีวิต หลายเรื่องไม่ใช่เป็นเพียงงานวิจัย หรือการเรียนการสอนเท่านั้น แต่อยู่ในวิถีชีวิตของคนเรา การนำความงดงามของศิลปวัฒนธรรมล้านนามาพัฒนาให้เกิดความรุ่งเรือง เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ ด้วยหลากหลายแนวทาง หรือเพียงแต่งกายล้านนาร่วมสมัยในโอกาสที่เหมาะสม ก็ถือว่าได้ช่วยสานต่อความเป็นล้านนาสร้างสรรค์ได้อย่างงดงามแล้ว


 
แกลลอรี่