สามนักศึกษาทีม Palalamp มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้าแชมป์อันดับ 1 Startup Thailand League 2019 รอบภาคเหนือ

23 พฤษภาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

     นักศึกษาทีม Palalamp จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้าแชมป์ชิงชัยการแข่งขัน Startup Thailand League 2019 รอบสนามภาคเหนือ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2562 ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โชว์ผลงานนำเสนอแผนธุรกิจเครื่องสร้างปุ๋ยไนเตรทจากอากาศด้วยเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับช่วยเหลือภาคการเกษตร โดยเป็นการต่อยอดงานวิจัยจากโครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ภายใต้ผลงานการวิจัยของ รศ.ดร. คมกฤต เล็กสกุล สังกัดภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ผ่านการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2561

     ทีม Palalamp เกิดจากการฟอร์มทีมของ 3 หัวกะทิจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ (นายพิสิษฐ์ แก้วคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 3, นายบุญประทาน หัตถผะสุ นักศึกษาชั้นปีที่ 4) และคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาญี่ปุ่น (นางสาวณัฐณิชา เมธาฤกษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2) คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากนำเสนอผลงานในกลุ่มเกษตรและอาหาร (AgriTech / Food Startup) "เครื่องสร้างปุ๋ยไนเตรทจากอากาศด้วยเทคโนโลยีพลาสมา" โดยเครื่องดังกล่าวอาศัยหลักการที่พัฒนามาจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าทางธรรมชาติ เมื่อเกิดปรากฏการณ์ฟ้าผ่า พลังงานที่ส่งออกมาในรูปของพลังงานไฟฟ้าจะไปกระตุ้นให้ก๊าซในอากาศซึ่งมีก๊าซไนโตรเจนอยู่เป็นจำนวนมากเกิดการดิสชาร์จแตกตัวเป็นไอออนสร้างอนุมูลอิสระของไนเตรทและไนไตรท์ลงสู่พื้นดิน โดยในโครงการนี้ได้มีการสร้างอนุมูลอิสระของไนเตรทและไนไตรท์ในน้ำและนำไปรดต้นไม้เพื่อเร่งการเติบโต นอกจากนี้ยังได้สร้างอนุมูลอิสระของ OH– ด้วยการดิสชาร์จออกซิเจนในอากาศเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในระบบน้ำ ซึ่งช่วยลดโอกาสการเกิดโรคของพืชได้

     สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม RoboNurse จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลงานในกลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข (MedTech / Health Tech) โดยเป็นการวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาเครื่องควบคุมความดันในช่องท้องทางอ้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงภายในช่องท้องและภาวะกลุ่มอาการของช่องท้อง ซึ่งสามารถลดภาระของพยาบาลและแก้ปัญหาของการเกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ โดยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นผลงานของทีม I'rice จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอผลงานในกลุ่มพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ชู “I'rice” เป็นแพตฟอร์มและถังข้าว IOT ที่ใช้ในการจัดส่งข้าวอย่างครบวงจร เพื่อป้องกันปัญหาการจัดส่งสินค้าล่าช้า

     ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมในธุรกิจและผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในวงการการศึกษาไทย จึงสนับสนุนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าแข่งขัน Startup Thailand League 2019 โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาและนักวิจัยในการพัฒนาแบบจำลองธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งคัดกรองแบบจำลองธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะและเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ของประเทศ ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup) ประจำปี 2562 โดยแบ่งสนามแข่งขันออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลางและตะวันออก โดยมีภาคเหนือเป็นสนามสุดท้าย ซึ่งอุทยานฯ มีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำการสร้างแผนธุรกิจที่เป็นไปได้ พร้อมฝึกสอนประสบการณ์นำเสนองานแก่น้องนักศึกษาผู้เข้าแข่งขันเพื่อให้ก้าวไปในเส้นทางธุรกิจได้อย่างมั่นใจ โดยผู้ชนะจากเวทีทั้ง 4 สนาม จะเข้าชิงแชมป์ระดับประเทศเพื่อเป็นสุดยอด Startup ในงาน Startup Thailand 2019 ระหว่างวันที่ 23-27 ก.ค. นี้ ณ กรุงเทพมหานครฯ

ข้อมูลโดย : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แกลลอรี่