มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ต่อยอดความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาพื้นที่สูง

30 กันยายน 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

                  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยร่วมกันทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยศาสตราจารย์ ดร.ดนัย บุณยเกียรติ หลังจากนั้น คณะเกษตรศาสตร์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง ฯ เพื่อศึกษาวิจัยร่วมกันในหลากหลายโครงการมาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยที่โดดเด่น รวมทั้งสิ้น 193 โครงการ ในหลากหลายสาขา อาทิ โครงการวิจัยด้านชีวภัณฑ์เกษตร โครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว โครงการวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์กัญชง และโครงการวิจัยด้านปศุสัตว์ เป็นต้น

                  จากความร่วมมือทางวิชาการอย่างยาวนานดังกล่าว นำมาสู่การจัดทำบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้ โดยทั้งสององค์กรมุ่งมั่นที่จะร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม / องค์ความรู้ใหม่แก่ชุมชนบนพื้นที่สูง รวมทั้งต่อยอดและใช้ประโยชน์จากผลงานทางวิชาการด้านต่าง ๆ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุนวิชาการ และนักศึกษา ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน และใช้ทรัพยากรทางวิชาการร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการวิชาการแก่สังคม ชุมชนบนพื้นที่สูง ตลอดจนผลักดันองค์ความรู้ เทคโนโลยีและผลงานวิจัยสู่ผู้ใช้ประโยชน์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

                  การลงนามจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 ณ ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ อาคารยุทธศาสตร์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณวิรัตน์ ปราบทุกข์ สถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ โรม จิรานุกรม รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี นาพรหม คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ดร.เพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ด้านการพัฒนา และ ดร. อัจฉรา ภาวศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัย และคณะผู้บริหารของคณะร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์งานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสำหรับการพัฒนาพื้นที่สูง อันจะสู่การต่อยอดและใช้ประโยชน์จากผลงานทางวิชาการด้านต่าง ๆ สู่ผู้ใช้ประโยชน์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ยั่งยืนสืบไป


รายละเอียดประกอบข่าว : กองวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานมหาวิทยาลัย และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

แกลลอรี่